จากบนความก่อนหน้า เรื่อง “ปฐมบทความรู้ ที่ต้องรู้สำหรับการดำน้ำลึก“ เราได้คุยกันถึงเรื่องแรงกดดันกันไปแล้ว ทำให้เราได้เข้าใจกันแล้วว่า เวลาดำน้ำลึก เราจะต้องแบกน้ำหนักรอบตัว หรือร้บแรงกดดันอยู่แค่ไหน ในบทความนี้เราจะได้รู้ถึงผลกระทบที่เกิดจากแรงกดดันในการดำน้ำลึกกันเพิ่มเติมว่ามันกระทบกับการดำน้ำของเราในเรื่องไหนบ้าง

คำถาม : ทำไมเมื่อแรงกดดันเพิ่มขึ้น แล้วก๊าซถึงมีปริมาตรน้อยลง

ลองนึกถึงลูกโป่งสักลูก มีอากาศอยู่ภายใน แล้วเราเอามือบีบลูกโป่งนั้น จะสังเกตว่าลูกโป่งมีขนาดเล็กลงได้ นั่นก็เพราะว่า เราเพิ่มแรงกดดันไปที่ลูกโป่งด้วยการบีบ ทำให้อากาศที่อยู่ภายในลูกโป่งนั้นมีปริมาตรหรือขนาดเล็กลง

 

ในทางกลับกัน หากเราลดแรงกดดันลง ก็จะทำให้อากาศในลูกโป่ง ขยายตัวออก ทำให้ลูกโป่งมีขนาดที่ใหญ่ขึ้นได้นั่นเอง ถ้ายังนึกภาพไม่ออก ลองดู Clip VDO นี้ได้นะ

จาก Clip VDO จะเห็นว่าตอนที่เอาลูกโป่งใส่โหลลงจากผิวน้ำไปยังที่ที่ลึกขึ้น ขนาดของลูกโป่งจะมีขนาดเล็กลง นั่นเพราะแรงดันรอบตัวที่เกิดจากน้ำเพิ่มขึ้น จึงบืบให้ขนาดของก๊าซในลูกโป่ง มีขนาดที่เล็กลง ทำให้ขนาดของลูกโป่งเล็กลงด้วยนั่นเอง

 

ส่วนเมื่อเราน้ำลูกโป่งที่บรรจุก๊าซจากที่ลึก กลับขึ้นมาสู่ที่ตื้น จะเห็นว่าลูกโป่งขยายตัวขึ้น เพราะว่าแรงดันรอบตัวของน้ำนั้นลดลง จึงทำให้ก๊าซที่อยู่ในลูกโป่ง ขยายตัวกลับมา ซึ่งหากก๊าซในลูกโป่งขยายตัวมากขึ้น จนเกิดขีดจำกัดของภาชนะที่บรรจุอยู่จะรับการขยายตัวได้ ก็จะทำให้ภาชนะนั้นฉีกขาดนั่นเอง ซึ่งกรณีนี้คล้ายกับอันตรายของการดำน้ำเมื่อเรากลั้นหายใจนั่นเอง โดยจริงๆแล้วมันเกิดการการเปลี่ยนแปลงแรงกดดันนั่นเอง

คำถาม : ปริมาตรน้อยลง แล้วมีผลอะไรกับการดำน้ำล่ะ

การที่ก๊าซ ซึ่งก็คืออากาศที่เราใช้ในถังอากาศ มีปริมาตรน้อยลงนั้น มีผลกับหลายๆเรื่องในการดำน้ำของเราเลยทีเดียว

 

เรื่องที่ 1 : การลอยจม (Buoyancy) ของเราจะเปลี่ยนไป

ก่อนอื่นเรามาทำความรู้จักกับการลอยจม หรือ Buoyancy กันก่อนนะ ลองนึกดูว่าการที่เราดำน้ำดูปะการัง เราก็อยากให้ตัวเราลอยอยู่นิ่งๆ เหมือนลอยอยู่ในอวกาศใช่มั้ยล่ะ การที่เราลอยอยู่นิ่งๆได้ นั่นเรียกว่าเรามีการลอยจมเป็นกลาง หรือ Neutral Buoyancy นั่นเอง แต่ถ้าเราจมลงสู่ที่ลึกเรื่อยๆเรียกว่าเรามีการลอยจมเป็นลบ หรือ Negative Buoyancy และในทางกลับกัน หากเราลอยขึ้นสู่ที่ตื้นเรื่อยๆ เรียกว่าเรามีการลอยจมเป็นบวก หรือ Positive Buoyancy ซึ่งในการดำน้ำลึกนั้น เราต้องปรับการลอยจมของเราให้เป็นทั้ง 3 แบบ เช่นหากเราต้องการดำลงสู่ที่ลึก ต้องทำตัวเป็น Negative Buoyancy เพื่อให้เราจม หากเราต้องการลอยนิ่งๆดูปะการัง ก็ทำตัวให้เป็น Neutral Buoyancy หรือหากต้องการลอยขึ้นสู่ที่ตื้น ก็ปรับตัวเองให้เป็น Positive Buoyancy เพื่อลอย เป็นต้น

หากเราขยับตัวลงไปที่ลึก สิ่งที่เกิดขึ้นลำดับแรกคือ แรงกดดันรอบตัวเราจะเพิ่มขึ้น (จำกันได้มั้ย ว่ายิ่งลึกขึ้น แรงกดดันก็มากขึ้น) พอแรงกดดันเพิ่มขึ้น มันก็บีบก๊าซให้ปริมาตรน้อยลง อย่าลืมว่าอากาศที่อยู่ใน BCD ของเราเป็นก๊าซ มันจึงถูกบีบให้ปริมาณน้อยลง เอาล่ะ พออากาศที่อยู่ใน BCD เรามีปริมาตรน้อยลง แรงยก หรือแรงลอยตัวของมันก็จะน้อยลงตามไปด้วย แต่แรงถ่วงของตะกั่วยังมีเท่าเดิม เพราะตะกั่วไม่ใช่ก๊าซจึงไม่ถูกบีบให้ปริมาตรลดลง

 

คราวนี้ก็เลยทำให้ แรงลอยตัวของอากาศใน BCD น้อยกว่าแรงถ่วงของตะกั่ว เราก็จะกลายเป็น Negative Buoyancy ไปในทันที และก็จะจมมากยิ่งขึ้นนั่นเอง ดังนั้นหากเราต้องการทำตัวเองเป็น Neutral Buoyancy เช่นเดิม เราก็จะต้องเติมอากาศเข้าไปเพิ่มแรงลอยตัวให้กับ BCD เพื่อชดเชยให้เท่ากับแรงถ่วงของตะกั่วอีกครั้งนั่นเอง

 

เห็นมั้ยล่ะ ว่าแรงกดดันมีผลกับ Buoyancy ของเรา ดังนั้นเราต้องรู้จักว่าแรงกดดันทำอะไรกับเราบ้าง เราถึงจะทำตัวให้เป็น Neutral Buoyancy ได้ง่ายขึ้น

เรื่องที่ 2 : ปริมาณอากาศที่เราใช้หายใจจะเปลี่ยนไปจากปกติ

ลองจินตนาการว่า เรามีถังอยู่ 1 ใบ ที่ถังนั้นบรรจุเต็มด้วยลูกเทนนิส 100 ลูก หากเราต้องการเติมถังนี้ให้เต็มเช่นเดิม แต่จากลูกเทนนิส เปลี่ยนเป็นลูกปิงปองที่มีขนาดเล็กลงแทน เราอาจจะต้องใช้ลูกปิงปองถึง 300 ลูก เพื่อเติมถังนี้ให้เต็มเช่นเดิม

เปรียบเทียบถังใบนั้น เหมือนกับการหายใจของเรา 1 ครั้ง หากการหายใจ 1 ครั้ง เราต้องการเอาอากาศเข้าไป 4 ลิตรเสมอ แต่เมื่อเราดำน้ำลงไปที่ลึก สิ่งแรกที่เกิดขึ้นนั่นคือ แรงกดดันรอบตัวเราจะเพิ่มขึ้น พอแรงกดดันเพิ่มขึ้น ก็จะทำให้ปริมาตรอากาศถูกบีบให้เล็กลง (หรือเปรียบเทียบได้ว่าอากาศจากเดิมที่เคยเป็นลูกเทนนิส ถูกบีบให้เล็กลงเหลือเท่าลูกปิงปอง) ดังนั้นการหายใจในที่ลึก เรายังคงต้องการอากาศที่ 4 ลิตรเท่าเดิม แต่อากาศถูกบีบให้เล็กลงแล้ว การจะเอาอากาศที่เล็กลงนั้น มาเติมให้เต็ม 4 ลิตร ก็จะต้องใช้ปริมาณอากาศที่มากขึ้น เช่นเดียวกับการเติมลูกปิงปองที่มากขึ้นลงไปในถังเดิมนั่นเอง

ทำให้เมื่อเราดำน้ำในที่ลึก เราจะต้องใช้อากาศในปริมาณที่มากขึ้นนั่นเอง ไม่ใช่ว่าเราหายใจมากขึ้น เรายังหายใจเท่าเดิม แต่อากาศถูกบีบให้เล็กลง จึงต้องใช้อากาศเล็กๆนั้นในปริมาณมากขึ้น เพื่อเติมเต็มการหายใจที่เท่าเดิมของเรานั่นเอง นี่จึงเป็นเหตุผลว่า ทำไมเราถึงใช้อากาศหมดถังดำน้ำเร็วขึ้น เมื่อเราดำน้ำในที่ลึกขึ้น

 

เห็นมั้ยล่ะ ว่าแรงกดดันที่เปลี่ยนไปนั้น ก็จะทำให้ปริมาตรของก๊าซเปลี่ยนไป และมีผลกับการดำน้ำของเราอย่างมากเลยทีเดียว ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง Buoyancy ของเรา และ ปริมาณการใช้อากาศในการดำน้ำในที่ลึก แต่ก็ยังมีอีกหลายเรื่องที่แรงกดดันส่งผลกับการดำน้ำของเรา เรามาติดตามกันในตอนต่อๆไปกันเถอะ

ที่มาของภาพ และ Clip VDO : PADI and YouTube


สนใจเรียนดำน้ำ หรือ สนใจเรียนดำน้ำหลักสูตรอื่นๆ ของ PADI
ติดต่อได้ทุกช่องทางด้านล่างนี้จ้า
Line : @yellowoctopus :
FB messenger : m.me/yellowoctopusdive
E-mail : info@yellowoctopus.net
Website : www.yellowoctopus.net