มีหลายๆคนที่อยากเรียนดำน้ำ แต่ก็หวั่นถึงอันตรายต่างๆที่เคยได้ยินมา อีกใจหนึ่งก็ยากที่จะต้านทานกับความสวยงามใต้ทะเล และการผจญภัยใหม่ๆที่จะได้ค้นพบ ซึ่งการดำน้ำลึกนั้นมีหลายอย่างที่ต้องคำนึงถึง ไม่ว่าจะเป็น
- ดำน้ำลึกๆแล้วปวดหูมั้ย
- จะปรับการลอยตัว (Buoyancy) ให้เป็นกลางทำได้ยังไงบ้าง
- ทำยังไงให้ไม่เกิดอันตรายจากการดำน้ำ
- ดำน้ำลึกๆแล้วจะอยู่ได้นานแค่ไหน
หากคุณได้มาเรียนดำน้ำลึกอย่างจริงจัง ก็จะสามารถหาคำตอบเหล่านี้ได้ไม่ยากเลย แต่เรื่องทั้งหมดที่กล่าวมานั้น สิ่งเดียวที่เป็นจุดเริ่มต้นทั้งหมด และเป็นสิ่งสำคัญมากๆที่คุณต้องรู้จักกันก่อนนั่นก็คือ แรงกดดัน (Pressure) ซึ่งเมื่อคุณเข้าใจในเรื่องของแรงกดดันอย่างถ่องแท้แล้ว คุณจะสามารถตอบคำถามทั้งหมดข้างต้นได้อย่างแน่นอน
ดังนั้นเรามาเริ่มต้นรู้จักกับ แรงกดดัน กับการดำน้ำลึกกันก่อนดีกว่า
คำถาม : ตอนนี้ที่เรากำลังใช้ชีวิตประจำวัน รอบตัวเรามีแรงกดดันมั้ยนะ
มีสิ่ ตอนนี้ร่างกายเรารับแรงกดดันของอากาศที่อยู่รอบตัวเรา ซึ่งมันหนักเท่ากับ 1 ชั้นบรรยากาศเลยทีเดียว ตัวเราแบกรับน้ำหนักของอากาศทั้งหมดไว้นั่นเอง แต่เราไม่ได้รู้สึกหนักอะไร เพราะว่าเราชินกับมันแล้วนั่นเอง มันจึงหมายความว่า ตอนนี้เรารับแรงกดดันรอบตัวเราอยู่ 1 ชั้นบรรยากาศ หรือ 1 ATM (Atmosphere)
นอกจากนี้หลายคนที่เคยอ่านเรื่องแรงดันกับการดำน้ำคงเคยได้ยินว่า 1 ATM = 1 Bar แต่ในความจริงแล้ว 1 ATM ไม่ได้เท่ากับ 1 Bar เป๊ะๆ โดย 1 Bar = 0.98692 ATM แต่เราก็มักจะปัดเศษให้เป็นจำนวนเต็ม ก็เลยอนุมานว่า 1 ATM = 1 Bar นั้นเอง
คำถาม : แล้วตอนที่เราดำน้ำ แรงกดดันเท่ากับอากาศมั้ยนะ
ไม่เท่าแน่นอน เพราะน้ำมีความหนาแน่นมากกว่าอากาศ ถ้าเราลองลากมือมือผ่านน้ำ เราจะรู้สึกว่าต้องออกแรงพอสมควร เพราะมือเรากำลังผ่านตัวกลางที่แน่นนั่นเองแหล่ะ เมื่อเทียบกับเราลากมือผ่านอากาศเราจะรู้สึกเบา ไม่ต้องออกแรงมากใช่มั้ยล่ะ แต่ในความจริงก็ต้องออกแรงอยู่นะ เพียงแต่ว่ามันต้านเราไม่เยอะเท่าน้ำนั่นล่ะนะ แสดงว่าน้ำมีความหนาแน่นมากกว่าอากาศนั่นเอง
คราวนี้เมื่อน้ำมีความหนาแน่นมากกว่าอากาศ ก็จะทำให้น้ำหนักของมันหนักกว่าด้วย ลองจินตนาการว่า เรากำลังแบกถังที่มีน้ำอยู่เต็ม 5 ลิตร กับแบกถังที่มีอากาศอยู่เต็ม 5 ลิตร อะไรจะหนักกว่ากัน ง่ายมาก น้ำจะหนักว่าแน่นอนใช่มั้ยล่ะ
เมื่อเราลงไปดำน้ำ ตัวเราก็จะต้องแบกน้ำหนักของน้ำไว้ และอย่าลืมว่าบนน้ำ ก็ยังมีอากาศอยู่ นั่นแปลว่า เราต้องแบกน้ำหนักทั้งของ น้ำ และ อากาศรวมกันนั่นเอง นักดำน้ำเริ่มเหมือนกรรมกรแบกหามเข้าไปทุกทีแล้วล่ะเนอะ
คำถาม : แล้วเราแบกน้ำหนักทั้งหมดอยู่เท่าไหร่ล่ะเวลาดำน้ำ
จากเดิมที่เราเล่าว่า ในตอนนี้เราแบกอากาศอยู่ 1 ชั้นบรรยากาศ หรือ 1 ATM หรือ 1 Bar ยังจำได้กันใช่มั้ย เค้าเลยเทียบเมื่อเราแบกน้ำหนักของน้ำให้เป็นหน่วยเดียวกับที่เราแบบอากาศนั่นล่ะ คือทุกๆ 10 เมตรในน้ำทะเล เราจะแบกน้ำหนักของน้ำ เท่ากับน้ำหนักของอากาศ 1 ชั้นบรรยากาศ (ต่อไปจะใช้ว่า 1 ATM แทนละ) สังเกตมั้ย ว่าปกติเราแบกอากาศ 1 ชั้นบรรยากาศเนี่ย มันสูงตั้งแต่พื้นโลก จนไปหลายร้อยกิโลเมตรเลยทีเดียวนะ
แต่พอเราลงไปในน้ำทะเล ลึกแค่ 10 เมตร เราก็แบกน้ำหนังของน้ำเท่ากับเราแบกน้ำหนักของ 1 ชั้นบรรยากาศแล้ว ก็เพราะน้ำมีน้ำหนักมากว่าอากาศมากนั่นแหล่ะ
ถ้าเราดำน้ำที่ความลึก 10 เมตร เราต้องแบกน้ำหนักของน้ำอยู่ 1 ATM และอย่าลืมว่าบนน้ำก็ยังมีอากาศอยู่ ทำให้นักดำน้ำกรรมกรอย่างเรา ต้องแบกทั้งน้ำหนักของน้ำ และอากาศ รวมกับ 2 ATM เลยนะ แล้วถ้าเราลงไปที่ความลึก 20 เมตรล่ะ ก็ง่ายๆเพราะทุกๆ 10 เมตรเราจะแบกน้ำหนักของน้ำ 1 ATM ที่ 20 เมตร เราก็แบกน้ำหนักของน้ำอยู่ 2 ATM ถูกต้องมั้ย แต่..อย่าลืมว่าบนน้ำมีอากาศ เราต้องแบกน้ำหนักของอากาศด้วย ทำให้ที่ 20 เมตร เราแบกน้ำหนักอยู่ 3 ATM (เป็นของน้ำ 2 ATM และของอากาศ 1 ATM)
ดังนั้นการที่จะตอบคำถามว่าเวลาดำน้ำเราแบกน้ำหนักไว้เท่าไหร่ ก็ต้องดูว่าเราดำน้ำอยู่ที่ความลึกเท่าไหร่ โดยแยกเป็นน้ำหนักของน้ำทะเลที่เราแบกไว้ และน้ำหนักของอากาศที่ผิวน้ำด้วยอีก 1 ATM นะจ๊ะ
เป็นยังไงกันบ้าง เข้าใจถึงน้ำหนักที่เราต้องแบกไว้ตอนเราดำน้ำลึกกันแล้วใช่มั้ย ลองดูรูปเพิ่มเติมถึงแรงกดดัน ในความลึกต่างๆได้เลยนะ จะได้เข้าใจมายิ่งขึ้น ซึ่งน้ำหนักที่เราต้องรับนี่เอง มันก็คือแรงที่กดทับอยู่บนตัวเรา หรือที่เรียกกันว่า แรงกดดันนั่นเอง ยิ่งเราดำน้ำลึก แรงกดดันรอบตัวเราก็จะเยอะขึ้นตามไปด้วย แล้วแรงกดดันมาขึ้น มันทำให้เกิดอะไรกับเราเวลาดำน้ำบ้างล่ะ ใจเย็นๆกันก่อน
เดี๋ยวบทความถัดไป เราจะได้มารู้กันว่าเมื่อแรงดันมากขึ้นจะเกิดอะไรกับสิ่งต่างๆรอบตัวเราบ้าง ไว้ติดตามกันตอนต่อไปนะจ๊ะ
ขอบคุณภาพอ้างอิงจาก www.padi.com
สนใจเรียนดำน้ำ หรือ สนใจเรียนดำน้ำหลักสูตรอื่นๆ ของ PADI
ติดต่อได้ทุกช่องทางด้านล่างนี้จ้า
Line : @yellowoctopus :
FB messenger : m.me/yellowoctopusdive
E-mail : info@yellowoctopus.net
Website : www.yellowoctopus.net